วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

คุณค่าทางวัฒนธรรมในประเพณีสงกรานต์


 คุณค่าทางวัฒนธรรมในประเพณีสงกรานต์
คุณค่าประการที่ 1 ความรักความผูกพันในครอบครัว



วันสงกรานต์ เป็นวันแห่งความรักความผูกพันของครอบครัวอย่างแท้จริง สมัยก่อนพ่อแม่จะเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ ให้ลูกหลานพร้อมเครื่องประดับสำหรับตกแต่งไปทำบุญ ลูกหลานจะเตรียมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ให้พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้สวมใส่หลังพิธีรดน้ำดำหัว ซึ่งเป็นความรัก ความห่วงใยอันเกิดจากน้ำใสใจจริงที่สมาชิกในครอบครัวจะพึงให้แก่กัน


คุณค่าประการที่ 2 ความเคารพกตัญญูต่อผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ




ในวิถีชีวิตไทย ไม่มีสิ่งใดจะประเสริฐกว่าความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ สังคมไทยแต่เดิมมี ความผูกพันกับสมาชิกในครอบครัวท้งต่อวงศาคณาญาติ และบรรพบุรุษ เมื่อถึงวันสงกรานต์จึงเป็น วันที่จะได้แสดงความเคารพกตัญญูต่อผู้มีพระคุณทั้งที่มีชีวิตอยู่ และล่วงลับไปแล้ว นอกเหนือ จากการปฏิบัติตามปกติ


คุณค่าประการที่ 3 ความศรัทธาในการทำบุญให้ทาน




เมื่อถึงวันสงกรานต์ แต่ละครอบครัวเตรียมของสำหรับทำบุญตักบาตร พร้อมภาชนะอย่างดีที่สุด เท่าที่จะพึงมี แต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ กอปรด้วยจิตใจอันเบิกบานบนความศรัทธาในคุณความดี แห่งการทำบุญให้ทานซึ่งเป็นการเกื้อกูลสูงสุดของมนุษยชาติ เป็นการเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังมีการปล่อยนกปล่อยปลาอันเป็นวิธีการสร้างความเมตตาให้เกิดขึ้นด้วย ศรัทธาในการทำบุญ เป็นเหตุให้ศาสนาเจริญรุ่งเรืองสามารถสืบต่ออายุพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน


คุณค่าประการที่ ๔ พิธีกรรมที่สง่างามสร้างความสัมพันธ์




พิธีกรรมที่สง่างามสร้างความสัมพันธ์ การตั้งใจกระทำความดีเมื่อประกอบกับพิธีกรรมที่สูงส่ง และสง่างามย่อมส่งผลถึงความสัมพันธ์ทางจิตใจอย่างลึกซึ้งทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ ยิ่งเคารพนับถือมากพิธีกรรมที่จัดให้ยิ่งงดงามด้วยศิลปะและความหมายอันสูงค่า


คุณค่าประการที่ ๕ สามัคคีคือพลังของชุมชน




ประเพณีสงกรานต์ ได้แฝงคุณค่าไว้อีกประการหนึ่งอย่างแยบคายคือ ความสามัคคีซึ่งจะเห็นได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มวันสงกรานต์ สมาชิกในครอบครัวร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ร่วมมือร่วมใจกันตระเตรียมสิ่งของสำหรับไปทำบุญ เป็นความสามัคคีภายในครอบครัว ซึ่งจะเป็นผลให้สมาชิกรักใคร่ผูกพันกันมากขึ้น


คุณค่าประการที่ ๖ ภาษาไทย: การสื่อความหมายที่ไพเราะ




ภาษาไทยนั้นงดงามทั้งสาระ ลักษณะและศัพท์สำเนียง เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนที่มีภาษาเป็นของตนเอง ซึ่งคิดขึ้นด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยโดยแท้ ลักษณะประการหนึ่งในการ ใช้ภาษาไทยของคนไทยคือ การเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ซึ่งจะพบได้ในประเพณีสงกรานต์ที่เกี่ยวข้องกับ การละเล่นต่างๆ มีการใช้ถ้อยคำที่ลึกซึ้งกินใจ และยังแฝงไปด้วยไหวพริบปฏิภาณในการคิดค้นโต้ตอบ ให้ทันทั้งถ้อยคำและความหมายอีกด้วย


คุณค่าประการที่ ๗ การละเล่นและดนตรีพื้นบ้าน : ความสุข สุนทรียภาพ




สิ่งที่ควบคุมไปกับงานบุญ ซึ่งเราพบเห็นอยู่เสมอได้แก่ ดนตรีและการละเล่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นคุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งของคนไทยที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ในประเพณีสงกรานต์ ดนตรีพื้นเมืองได้เข้าไปมีบทบาทอยู่หลายวาระด้วยกัน


สงกรานต์ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง




ความงดงามของประเพณีสงกรานต์ อันประกอบด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมดังกล่าว เปรียบเสมือนสายใยความผูกพันแห่งอดีตกับปัจจุบัน เป็นสิ่งซึ่งแสดงถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง แต่กำลังจะถูกลบเลือนไปในสภาพปัจจุบัน กิจกรรมหลายอย่างได้ถูกยกเลิกไป สุนทรียภาพ อันเกิดจากภาษาและดนตรีได้เงียบหายไป เพลงร้องอันไพเราะที่เกิดจากภูมิปัญญาของตน ถูกแทนที่ด้วยบทเพลงสมัยใหม่ ความเอื้ออาทร ความห่วงใย และความปรารถนาดีที่จะให้ผู้อื่น มีความสุขโดยการประพรมน้ำ ถูกแทนที่ด้วยการขว้างปา กิริยาก้าวร้าวรุนแรง ไม่สนใจ ในความเจ็บปวดและอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น พิธีกรรมอันเคยสง่างามถูกบีบรัดด้วยความรีบร้อนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว


ที่มา http://kanchanapisek.or.th/kp8/song09t.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น