วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

มะเขือพวงกับเพ็กทิน



มะเขือพวงกับเพ็กทิน

งานวิจัยพบว่า มะเขือพวงมีสารเส้นใยละลายน้ำได้ที่เรียกว่า เพ็กทิน (pectin) ซึ่งเป็นสารที่พบในผนังเซลล์ของพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ  เมื่อผ่านการกินเพ็กทินจะเปลี่ยนรูปเป็นวุ้นไปเคลือบผิวลำไส้ และช่วยเพิ่มความหนืดของอาหาร ทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ช้า ลำไส้จึงดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างคงที่ การดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารหรือน้ำดีลดลง และเกิดการสร้างน้ำดีขึ้นมาทดแทน
นอกจากนี้ พบว่าเพ็กทินมีคุณสมบัติดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหาร ลดการดูดซึมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่ร่างกาย สารเส้นใยนี้ยังสามารถดึงน้ำไว้ได้เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ และกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ ที่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารย่อยเพ็กทินให้กรดไขมันขนาดเล็กซึ่งเป็นประโยชน์กับร่างกาย
การศึกษาปริมาณเพ็กทินในมะเขือ ๓ ชนิด ได้แก่ มะเขือยาว มะเขือเปราะ และมะเขือพวง พบว่ามะเขือพวงมีปริมาณเพ็กทินสูงสุด มะเขือยาวมีปริมาณเพ็กทินน้อยกว่ามะเขือพวง ๓ เท่า และมะเขือเปราะมีน้อยกว่า ๖๕ เท่า จึงอาจกล่าวได้ว่า เพ็กทินในมะเขือพวงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มะเขือพวงมีคุณสมบัติลดน้ำตาล ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต และช่วยความสมดุลของระบบขับถ่ายดังที่ใช้กันในหลายประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น