วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556

ไขเทคนิค “อบสมุนไพร” ด้วยตัวเองแบบไม่เสี่ยงตาย!

ไขเทคนิค “อบสมุนไพร” ด้วยตัวเองแบบไม่เสี่ยงตาย!
 “หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีบริการอบสมุนไพรมานานแล้ว และไม่เคยพบผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว” คำยืนยันจาก นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ออกแถลงการณ์สร้างความมั่นใจให้ประชาชน ว่า การอบสมุนไพรนั้นไม่เป็นอันตรายและปลอดภัย แม้จะอบสมุนไพรด้วยตัวเองที่บ้านก็สามารถทำได้ แต่ประเด็นสำคัญ คือ...ต้องทำอย่างถูกวิธี!!
       การที่ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ รีบออกมาป่าวประกาศสร้างความเข้าใจ และเรียกความมั่นใจคืนจากประชาชนในเรื่องการอบสมุนไพรนั้น มีที่มาจากข่าวน่าสลด เมื่อพระครูรัตน พัชโรภาส หรือ หลวงพ่อชัย เจ้าอาวาสวัดศิริรัตนวราราม (ท่าข้าม) จ.เพชรบูรณ์ ได้มรณภาพลงระหว่างการอบสมุนไพรด้วยตัวเองภายในวัด ตามข่าวระบุว่า ท่านเจ้าอาวาสสร้างห้องอบสมุนไพรขึ้นใช้เอง โดยมีการจุดเตาถ่านต้มสมุนไพร เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และลดความอ้วน สุดท้ายขาดอากาศหายใจเสียชีวิต ขณะที่พระลูกวัดมีอาการสาหัส
    
       นพ.สมชัย ได้กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า การใช้เตาถ่านต้มสมุนไพร ออกซิเจนภายในห้องจะถูกเผาผลาญ ทำให้ออกซิเจนเหลือน้อย แต่มีคาร์บอนไดออกไซด์มาก จนขาดอากาศหายใจ นอกจากนี้ หากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายด้วย ส่วนที่ระบุว่าสมุนไพรอาจเป็นพิษนั้น คาดว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะปกติสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้นั้น มักเป็นสมุนไพรก้นครัวที่รู้จักกันดี และนำมารับประทานเป็นปกติอยู่แล้ว จึงสรุปได้ว่า กรณีของเจ้าอาวาสเป็นการอบสมุนไพรผิดวิธี
    
       สำหรับวิธีการอบสมุนไพรด้วยตัวเองที่ถูกต้อง นพ.สมชัย อธิบายว่า ต้องเข้าใจหลักการการอบสมุนไพรก่อน นั่นคือ การอาศัยไอหรือควันให้สัมผัสกับร่างกายผ่านทางผิวหนังและการหายใจ ซึ่งวิธีที่ทำให้เกิดไอขึ้นก็คือการต้ม ฉะนั้น สิ่งที่ต้องรู้และระมัดระวังในการอบสมุนไพรคือ 1.สถานที่ในการอบสมุนไพรต้องสามารถช่วยกักเก็บไอหรือควันเอาไว้ได้ อาจจะเป็นตู้หรือกระโจม แต่ที่สำคัญ คือ ต้องมีช่องทางในการระบายควันออกจากตู้หรือกระโจมด้วย
    
       2.อุปกรณ์ที่ใช้ในการต้มสมุนไพรจะต้องไม่มีการจุดไฟ อาทิ เตาถ่าน เพราะการจุดไฟจะทำให้ออกซิเจนภายในตู้ หรือกระโจมลดน้อยลง แต่ควรใช้เตาไฟฟ้าซึ่งมีความปลอดภัยกว่าใช้งานแทน ทั้งนี้ ต้องมีความระมัดระวังในเรื่องของไฟฟ้าช็อตด้วย ส่วนวิธีที่ปลอดภัยที่สุด คือ การตั้งเตาไว้ภายนอกตู้หรือกระโจม แล้วต่อท่อเพื่อส่งควันเข้าไป แต่วิธีการดังกล่าวจะต้องมีการลงทุนสูง
    
       3.ช่วงระยะเวลาในการอบสมุนไพร เนื่องจากการอบสมุนไพรจะต้องมีการสูดไอ หรือควันเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ต้องมีการปรับร่างกายเสียก่อน โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยอบสมุนไพรมาก่อนจะไม่มีความคุ้นชิน ไม่สามารถอบสมุนไพรเป็นระยะเวลานานได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กำหนดไว้คือ ผู้ที่ไม่เคยอบสมุนไพรมาก่อน ไม่ควรอบนานเกินกว่า 5-10 นาที จากนั้นต้องออกจากตู้หรือกระโจมมาพักดื่มน้ำ แล้วจึงกลับเข้าไปอบสมุนไพรต่อ ส่วนผู้ที่มีความคุ้นชินแล้วควรอบประมาณ 15 นาที แล้วพัก แต่ที่สำคัญคือ ห้ามอบสมุนไพรนานเกินกว่า 30 นาที ภายในครั้งเดียว เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
       และ 4.ผู้ที่ไม่ควรอบสมุนไพร ได้แก่ คนที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด โรคไต โรคลมชัก และมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
    
       ส่วนกรณีความเชื่อว่าการอบสมุนไพรสามารถช่วยลดความอ้วนได้นั้น นพ.สมชัย กล่าวว่า เป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากระหว่างการอบสมุนไพร ร่างกายจะขับเหงื่อออกมาปริมาณมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ น้ำหนักจึงลดลงไป แต่หลังจากอบเสร็จแล้วใช้ชีวิตตามปกติก็จะกลับมามีน้ำหนักเท่าเดิม จึงไม่ใช่วิธีในการลดความอ้วนตามที่เชื่อกัน
    
       ฉะนั้น ก่อนการอบสมุนไพรจะต้องเข้าใจหลักการ ศึกษาวิธีการและข้อห้ามต่างๆก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง จึงจะเป็นการอบสมุนไพรที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น